Civil 3D picture

Civil 3D picture

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

Revit กับการออกแบบสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์

จากการบรรยายของ E.Phillip Read, Director of Practice Integration – HNBT งาน Autodesk University

ในอุตสากรรมภาพยนต์ของ Hollywood ได้มีการนำเอาโปรแกรม AutoCAD มาใช้ช่วยในการออกแบบและเขียนแบบงานต่างๆที่เกี่ยวกับภาพยนต์ เช่น งานออกแบบและสร้างฉากที่ใช้ในการถ่ายทำ ข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในภาพยนต์ โดยเฉพาะพวกที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่เช่นพวกอาวุธ เช่น ปืนเลเซอร์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ เป็นต้น มาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่พวกเราผู้ดูมักสนใจกับความบันเทิงที่ถูกสร้างขึ้นมามากกว่าความเป็นมาขององค์ประกอบภาพของฉากนั้นว่าเป็นฉากจริงหรือฉากที่สร้างขึ้น เพราะถ้าไม่สังเกตุให้ดี หรือไม่ใช่คนเบื้องหลังจริงๆก็ยากที่จะบอกได้ว่า อันไหนเป็นอุปกรณ์จริงหรือ อุปกรณ์ที่สร้างขึ้น หรือฉากไหนฉากจริงหรือ ฉากไหนเป็นฉากที่สร้างขึ้น หรือแม้แต่เป็นฉากดิจิตอลที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์

ภาพ 02 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Fantastic 4 ยานอวกาศและเครื่องยิงเลเซอร์ ที่ใช้โปรแกรม Revit สร้างขึ้น (ไม่ได้ใช้ Inventor)


ในที่นี้ขอกล่าวถึงฉากที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ที่ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำกับนักแสดง ที่ในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการจากการใช้ โปรแกรม AutoCAD ที่เขียนแบบฉาก 2D มาเป็นการใช้ Revit Architecture มาเพื่อออกแบบฉาก (ย้ำเพื่อออกแบบฉากภาพยนต์) เพื่อให้กับผู้กำกับได้ดู ตรวจสอบและให้ความเห็น เพราะจากจุดนี้ ผู้กำกับสามารถเช็คมุมกล้อง ทดลองดอลลี่กล้อง ตรวจดูอารมณ์แสง (mood of light) ความถูกต้องสอดรับกับจินตนาการของผู้กำกับได้ทันที สามารถรองรับอารมณ์ในการดัดแปลงแก้ไขฉากซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเมื่อแบบฉากลงตัวก็สามารถสร้างงานเขียนแบบได้ทันที สามารถส่งต่อ 2D drawings ให้ฝ่าย production ทำการสร้างฉากได้  ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย ก็สามารถย้อนกระบวนการ และสร้างงานแบบให้กับฝ่าย production ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปแก้ไขหรือก่อสร้างใหม่ได้ทันที เนื่องจากการทำงานที่ต้องรวดเร็ว ต้องแข่งกับเวลา และงบจำกัด ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงแบบ/ฉากมีค่อนข้างมาก






ภาพ 03 จาก storyboard มาเป็นภาพวาด perspective แล้วพัฒนาด้วย Revit มาเป็นฉาก 3D และ 2D drawings

Revit เริ่มมาเป็นที่รับรู้ในวงการตั้งแต่ปี 2006 เมื่อ Mr.Jack Taylor (Hollywood Set Director) บรรยายให้กับงาน Autodesk University ในปีนั้นในหัวข้อ Revit for Film and Stage ก็เป็นที่รับรู้กับความสามารถของเทคโนโลยีที่มาช่วยงานออกแบบฉากในวงการบันเทิง ที่สามารถสนองความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของผู้กำกับ ความรวดเร็วในการผลิตงานแบบเพื่อการก่อสร้าง และที่สำคัญสามารถช่วยในการควบคุมงบประมาณได้อีกด้วย (scheduling materials)

Mr.Bryan Sutton เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมเขียนแบบมาตั้งแต่ใช้โปรแกรม AutoCAD และ เป็นทีม Set Designer ที่จะประสานและพัฒนาการใช้โปรแกรม Revit Architecture มาทำการออกแบบฉาก (Set) ที่เป็น Building / Scene Set ให้ผู้กำกับดูและตรวจสอบ ในแบบ “Scenic Design” คือแบบที่จะสามารถก่อสร้าง และที่สำคัญสามารถนำมาใช้ในการถ่ายทำ (Design to be Film) และใช้งานต่อเนื่องไปจนถึง Design to Document ออกไปเป็นแบบเพื่อการก่อสร้าง
Bryan และทีมงานได้ใช้ Revit Architecture ช่วยในการทำงานมาตั้งแต่ version 1.0 !

Design Iteration and Process
ในปัจจุบันด้วยความสามารถของโปรแกรม ทีมงานสร้างภาพยนต์ Production Designer, Director of Photography และ Director of Visual Effects สามารถทำงานร่วมกันโดยใช้ความสามารถของ Revit คือ
- Integrated: Project, Content, Documentation, Visualization สามารถทำงานประสานกันทั้งโครงการ ในแง่เนื้อหาสาระของภาพยนต์ การผลิตออกมาเป็นเอกสาร งานแบบเพื่อการก่อสร้าง จนถึงการแสดงภาพที่สมบรูณ์
- Bi-Directional Environment การทำงานแบบ 2 ทิศทางที่สามารถโต้ตอบไปมาระหว่างผู้กำกับกับทีมงาน เช่นถ้าผู้กำกับกับมีการแก้ไขฉาก ทางทีมงานก็สามารถแก้ไขแบบและแสดงผลเบื้องต้น ผู้กำกับสามารถตรวจสอบว่าเป็นไปตามความต้องการ และสามารถวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นที่อาจจะเกิดขึ้นกับทีมงานเพื่อแก้ไขได้ทันที
- Elegant Modeling Tools  เป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างโมเดลที่ทรงประสิทธิภาพ






ภาพ 04 บรรยากาศห้องทำงานของทีมงานภาพยนต์เรื่อง Watchmen ที่กำกับโดย Zach Snyder ร่วมกับทีม Bryan ที่ใช้ Revit, Zach Snyder คนใส่เสื้อยืดสีขาวภาพขวามือ

Early Workflow
การใช้งานและขั้นตอนการทำงานการออกแบบ Revit สามารถทำงานแบบ Gesture / Sketchy ได้ดีทำให้การออกแบบไม่แข็งจนทำให้แก้ไขงานได้ลำบาก สามารถใช้ความสามารถของแสงใน Revit ทำ Lighting Effect เพื่อดูการแสดงผลทางอารมณ์ของแสงที่มีต่อฉาก ในขั้นตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันในขณะที่ออกแบบ (หรือแม้ระหว่างการถ่ายทำ) ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ วิจารณ์ แก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่สามารถทำและตรวจสอบการออกแบบแก้ไขแบบได้ทันทีทั้งในรูปแบบ 2 มิติและ 3 มิติ เพระเมื่อมีการแก้ไขโมเดล งานแบบ 2D drawings ก็จะแก้ตามไปด้วยอัตโมมัติ

ภาพ 05 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Fantastic 4 บรรยากาศในยานอวกาศ



Documentation & Visualization
สามารถสร้างงานสร้างเอกสาร ทั้งการแสดงผลงานที่ออกแบบ 3D และงานแบบ 2D เพื่อการก่อสร้าง ที่สามารถแสดงผลตาม concept ของศิลปินทีครบทั้งเนื้อหาสาระการออกแบบที่ต้องการ รวมถึงการแสดงผล Shaded Views ที่ให้ความลึกในแง่มุมมอง ฉาก และอารมณ์ความรู้สึก (Emotive ) และที่สำคัญสามารถถอดปริมาณวัสดุออกมาเพื่อช่วยในการประมาณราคาได้ทันที (Material – Suggestive)






ภาพ 06 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Fantastic 4 จาก Design จนถึง 3D Presentation, 2D Documentation และการประมาณวัสดุและราคา

Level of Detail
สามารถให้รายละเอียดงานได้แบบ Very Highly of Detail ที่สามารถลงลึกได้ขนาด nuts & screws ในงานที่ออกแบบ (แต่เวลาใช้งานจริงก็ไม่ได้นำมาใช้ เพราะรายละเอียดเกินไปที่จะนำไปใช้สร้างฉาก)

ภาพ 07 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Watchmen ที่แสดงถึงโครงสร้างฉากอาคารและรายละเอียดการก่อสร้าง

 

สามารถสร้างงานแบบ 2D เพื่อการก่อสร้างจากงานโมเดลที่ออกแบบ และยังสามารถส่งต่องานที่ออกแบบไปใช้ในแผนกอื่นเช่น แผนก CGI Visualization เพื่อใช้ประกอบในฉาก CG (Computer Graphic Scene) โดยที่ไม่ต้องสร้างใหม่ให้ซ้ำซ้อนและเสียเวลา






ภาพ 08 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง I-Robot จาก Sketch จนถึงฉาก CG
 
Construction & Fabrication

แบบ 2D เพื่อการก่อสร้าง สามารถนำไปก่อสร้างฉากด้วยกรรมวิธีการก่อสร้างทั่วไปแล้ว และยังสามารถใช้ทำงานร่วมกัน (share files) ในกรณีที่อยู่ต่างสถานที่กันในกรณีที่ต้องถ่ายทำฉากและต้องสร้างฉากนอกสถานที่ หรือในต่างประเทศที่ฝ่ายออกแบบและฝ่ายก่อสร้างต้องทำงานประสานกันข้ามทวีป ผ่านทาง dwfx file และ Internet เป็นต้น
นอกจากนั้นแบบบางอย่างยังสามารถส่งไปยัง แผนก CNC Fabrication เพื่อใช้เครื่อง CNC (Computer Numerical Control ) สร้างงานโมเดลที่มีรายละเอียด และความแม่ยำสูง จากโมเดลที่ออกแบบออกมาได้อย่างรวดเร็วด้วย  ด้วยเครื่อง CNC ในรูปแบบต่างๆ เช่น 5-Axis Milling, Laser Cutting และ Water Cutting เป็นต้น

ภาพ 09 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Fantastic 4 ที่ทำงานจาก Revit แล้วส่งต่อไปสร้าง Model ด้วยเครื่อง CNC-Water Cutting


 






ภาพ 10 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง Fantastic 4 ส่วนหนึ่งของความซับซ้อนของฉากที่ออกแบบด้วย Revit
 






ภาพ 11 ภาพประกอบ จากภาพยนต์เรื่อง X-Men ฉากคุกอัลคราทาสที่แมคนีโต้พาพวกไปถล่มก็ออกแบบและสร้างด้วย Revit








ภาพ 12 ภาพประกอบการ Collaborate การทำงานข้ามทวีปในการสร้างและประกอบฉากที่สร้างจาก Revit ด้วย การประชุมผ่าน Internet และ drawing ที่เป็น DWFx format ที่ทำให้สามารถดูผลได้ทั้ง 2D drawings, 3D Model, cross sections และ Assemblies สามารถเปิดได้ด้วย Autodesk Design Review หรือ Internet Explorer

ใน Slide ที่ใช้บรรยาย ยังมีภาพและฉากอีกหลายฉากของ Fanstic 4, I-Robot, Watchmen, ที่ไม่ได้นำมาให้ดู รวมทั้ง
ตัวอย่างฉากจากภาพยนต์อีกหลายเรื่องเช่น Snake on the Plane, X-Men the Last Stand, Night At The Museum II, Fantastic Four II ที่ทีม Set Design ใช้ Revit ในการออกแบบและสร้างฉาก แต่เท่าที่นำมาประกอบหัวข้อบรรยายนี้คงทำให้เห็นการประยุกต์ใช้โปรแกรม Revit Architecture กับการออกแบบฉากภาพยนต์ได้ดีพอสมควร

หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ทางด้านความรู้เพิ่มเติม สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโลกทัศน์ให้กับท่านที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย ขออภัยในความล่าช้าของบทความในเดือนนี้ เพราะเดินทางตลอด เพื่อไปรับข้อมูลใหม่ๆเอาไว้มาทะยอยอัพเดทกันในบทความต่อๆไป จากนั้นเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯก็มาเฝ้าไข้คุณแม่ที่โรงพยาบาล บทความนี้เขียนเสร็จข้างเตียงพยาบาลครับ
ขอขอบคุณท่านเจ้าของผลงานต่างๆ ค่ายภาพยนต์เจ้าของผลงาน ที่นำมาประกอบในบทความนี้ไว้ณที่นี้